ข่าวประชาสัมพันธ์
     
ข่าวประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ - สัญญาณเตือน “คลอดก่อนกำหนด” เตรียมพร้อมก่อนสาย
   
 

คลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่คนเป็นแม่คงไม่อยากจะเจอนัก ถึงแม้จะอยากเห็นหน้าลูกมากแค่ไหน แต่ก็อยากให้ลูกคลอดตอนครบกำหนด เพื่อให้ลูกน้อยแข็งแรง สมบูรณ์ที่สุด แต่หากเกิดเหตุไม่คาดคิด จะมีสัญญาณเตือนอะไรบ้างที่บอกว่าแม่อาจคลอดก่อนกำหนด

การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) คือ ภาวะที่มดลูกบีบตัวอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ปากมดลูกเปิด ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์

การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Birth) มีการกำหนดไว้ว่า คือ ทารกที่คลอดในช่วงอายุครรภ์ 20 – 37 สัปดาห์ ถือเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นการกำหนดจากอายุครรภ์ที่น้อยที่สุดที่สามารถเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้เมื่อคลอดออกมา

คลอดก่อนกำหนด อาจมีการกำหนดอายุครรภ์ที่แตกต่างกันไป 20 สัปดาห์บ้าง หรือ 24 สัปดาห์บ้าง

สาเหตุที่ทำให้ คลอดก่อนกำหนด

  • เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
  • เคยแท้งมาก่อน
  • มดลูกยืดขยายมากเกินไป เช่น มีลูกแฝด ตั้งครรภ์แฝดน้ำ
  • มีความผิดปกติของมดลูก เช่น เคยผ่าตัดมดลูก มดลูกไม่แข็งแรง
  • มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
  • อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ อายุมากกว่า 35 ปี
  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด
  • ตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เกิดภาวะรกเกาะต่ำ
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • มีภาวะโลหิตจาง ทำให้ทารก และรกได้รับออกซิเจนและเลือดไม่เพียงพอ
  • ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ขาดโฟลิก ขาดธาตุเหล็ก

คลอดก่อนกำหนด

คลอดก่อนกำหนด อันตรายไหม ?​

ถ้าร่างกายแม่ท้องแข็งแรง ฝากท้องสม่ำเสมอ ไม่มีโรคประจำตัว การคลอดกำหนดก็ไม่อันตรายมาก ก็จะคล้ายกับการคลอดปกติ แต่ทารกที่ออกมา อาจจะต้องมีการเฝ้าระวัง ดูแลจากคุณหมอเพิ่มขึ้น
หากคลอดก่อนกำหนดจากสาเหตุความผิดของทารกในครรภ์ หรือ ความผิดปกติของแม่อาจเป็นอันตราย หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • มีระบบประสาทผิดปกติ
  • มีพัฒนาการช้า
  • เกิดภาวะการหายใจที่ผิดปกติ
  • มีโรคปอดเรื้อรัง
  • จอตาเจริญเติบโตผิดปกติ
  • ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้

สัญญาณเตือนอาการแบบนี้อาจ คลอดก่อนกำหนด

– มดลูกมีการบีบตัวแรงขึ้น และถี่ขึ้น เช่น มากกว่า 4 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง หรือ ทุก ๆ 15 นาที
– มีการบีบรัดตัวเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
– ปวดเกร็งท้อง คล้ายปวดประจำเดือน อาจปวด ๆ หาย ๆ หรือ ปวดตลอดเวลา
– ปวดบริเวณต้นขา หรือหลังช่วงหลัง อาจปวดเป็นพัก ๆ หรือปวดตลอด
– ปวดถ่วงในอุ้งเชิงกราน หรือ รู้สึกคล้ายทารกดันตัวลงมา
– ท้องเสีย หรือ ลำไส้บิดตัวจนปวดท้อง
– มีสารคัดหลั่งออกจากช่องคลอด เช่น มูก มูกเลือด น้ำคร่ำ

ถ้าเจออาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด ให้รีบโทรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ หรือ รีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

คลอดก่อนกำหนด

จะป้องกันการคลอดกำหนดได้อย่างไร?

– ตรวจร่างกายเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์​ ถ้าคุณหมอพบว่าร่างกายไม่สมบูรณ์ เช่น มีภาวะโลหิตจาง คุณหมอจะให้ธาตุเหล็ก หรือ วิตามินเสริมคนท้อง เพื่อบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์ก่อนตั้งครรภ์

– ฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ เช่น วันซีนป้องกันหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนดได้

– บำรุงร่างกายก่อนตั้งครรภ์ หากมีน้ำหนักน้อยก่อนตั้งครรภ์ คือ น้อยกว่า 50 กิโลกรัม หรือ ได้รับกรดโฟลิกไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้

– กินวิตามินเสริมคนท้อง วิตามิน และ เกลือแร่ต่าง ๆ จำเป็นเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มีการศึกษาว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ขาดกรดโฟลิกจะทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ หรือ หากขาดธาตุเหล็กก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เป็นสาเหตุคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน เมื่อไปฝากครรภ์ คุณหมออาจจ่าย วิตามินเสริมคนท้อง มาให้ ควรกินให้ครบถ้วน

– เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เพราะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง และทำให้ โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมา กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้

– พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด การพักผ่อน เป็นสิ่งสำคัญ แม่ท้องมักมีอาการเหนื่อย หรือง่วงบ่อยขึ้น ควรนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และช่วงกลางวัน อาจจะหาช่วงเวลานอนพัก วันประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง และพยายามผ่อนคลาย ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียดกังวล เมื่อร่างกายจิตใจได้ผ่อนคลาย การไหลเวียนเลือดไปสู่มดลูกดีขึ้น

– ฝากท้องและไปตามหมอนัด การฝากท้องเร็วจะยิ่งทำให้คุณหมอช่วยเฝ้าระวังความผิดปกติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทุกครั้งที่หมอนัด ควรไปตรวจตามนัดทุกครั้ง หากเจอความผิดปกติจะทำให้ตรวจรักษาได้ทันท่วงที

– เลี่ยงการกระตุ้นหัวนม แม่ท้องบางคน อาจจะคิดว่าการนวดกระตุ้นเต้านม จะช่วยกระตุ้นน้ำนม เตรียมพร้อมน้ำนมให้ลูกที่กำลังจะคลอดได้ แต่การนวดกระตุ้นเต้านม โดยเฉพาะบริเวณหัวนมระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นหากต้องการนวดเต้านม ควรปรึกษาคุณหมอ หรือ ผู้เชี่ยวชาญก่อน

– รีบรักษาเมื่อเจ็บป่วย ติดเชื้อ รีบดูแลรักษาเมื่อมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ ท้องเสีย ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเมื่อมีตกขาวผิดปกติ ต้องรีบรักษา เพราะการติดเชื้อบางอย่างโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแบคทีเรียลวาไจโนสิส จะมีความสัมพันธ์กับการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดสูง

ที่มา : โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

 

 

   
 
 
 
     
     
 
ประกาศเมื่อ 12 มิถุนายน 2567