ข่าวประชาสัมพันธ์
     
ข่าวประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ - คลอดก่อนกำหนด คืออะไร ???
   
 

ปกติสตรีตั้งครรภ์จะคลอดที่อายุครรภ์ประมาณ 38-40 สัปดาห์ การคลอดก่อนกำหนด (preterm birth) หมายถึง การคลอดทารกออกมาก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์เต็ม โดยนับเริ่มต้นจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ เป็นวันที่ 1 (สำหรับคนที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 วัน)

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ น้ำหนักทารกปกติที่คลอดอายุครรภ์ 38-40 สัปดาห์จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,000 กรัม ถ้าคลอดก่อน 37 สัปดาห์มักมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อย” ถ้าคลอดก่อน 30-32 สัปดาห์ น้ำหนักเฉลี่ยน้อยกว่า 1,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อยมาก

 

รู้หรือไม่….ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด????

  1. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
  2. ครรภ์แฝด ยิ่งแฝดมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมาก
  3. รกเกาะต่ำ
  4. มีการอักเสบ หรือ ผ่าตัดในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์ ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
  5. ปริมาณน้ำคร่ำมาก หรือน้อยเกินไป
  6. มดลูกรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอกมดลูก
  7. รกลอกตัวก่อนกำหนดคลอด
  8. มารดาสูบบุหรี่ เสพสารเสพติด ภาวะทุพโภชนาการ
  9. มารดาอายุมาก หรือน้อยเกิน (น้อยกว่า 18 ปี หรือ มากกว่า 35 ปี)
  10. ทารกเจริญผิดปกติ

 

 

เด็กคลอดก่อนกำหนด มีลักษณะ อย่างไร

  1. ตัวเย็นได้ง่าย เด็กคลอดก่อนกำหนดจะตัวเล็ก และตัวเย็นได้ง่าย จึงจำเป็นต้องคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น ซึ่งอาจจะต้องเข้าตู้อบ
  2. หายใจลำบาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะปอดของเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่
  3. ติดเชื้อได้ง่าย การส่งต่อภูมิคุ้มกันของแม่สู่ลูกนั้น จะมีมากในช่วงท้ายๆ การตั้งครรภ์ ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าเด็กปกติถึง 4 เท่า
  4. ตัวเหลือง เป็นอาการที่พบมาก การกำจัดสารเหลืองของตับของเด็กคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้มีอาการเหลืองนานกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนด
  5. การดูดกลืน การดูดกลืนและการหายใจจะยังไม่ค่อยดี ทำให้มีโอกาสสำลักนมได้บ่อยๆ

 

 

คุณแม่ควรปฏิบัติตนอย่างไรไม่ให้คลอดก่อนกำหนด

  1. ฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์
  2. ไปพบแพทย์ตามนัดและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  3. พักผ่อนให้มาก
  4. ออกกำลังกายไม่หักโหม ไม่ยกของหนัก ไม่เดินทางไกล
  5. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
  6. เรียนรู้ความรู้สึกของมดลูกบีบตัวแต่เนิ่น ๆ เพื่อการสังเกตตัวเอง
  7. งดการกระตุ้นที่หัวนม
  8. ลด หรือ งดการมีเพศสัมพันธ์

 

บทความโดย
พท.ป.พิมพ์วิภา แพรกหา โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

   
 
 
 
     
     
 
ประกาศเมื่อ 15 ธันวาคม 2566