ข่าวประชาสัมพันธ์
     
ข่าวประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ - คลอดก่อนกำหนด วิธีป้องกันและพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง
   
 

 โดยปกติการตั้งครรภ์แบบครบกำหนดจะมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37-40 สัปดาห์ และไม่เกิน 42 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันเด็กไทยกว่า 800,000 คนมีอัตราการ คลอดก่อนกำหนด เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 8 – 10 % ต่อปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณแม่และคนในครอบครัวแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดอีกด้วย

ภาวะคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) คือ การคลอดบุตรก่อนระยะเวลา ซึ่งหากคลอดก่อนกำหนด 6 เดือน หรืออายุครรภ์ 24 สัปดาห์จะเรียกว่า ภาวะแท้ง แต่หากคลอดก่อนกำหนด 8 เดือนหรือช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะเรียกว่า ภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • การคลอดก่อนกำหนดช่วงแรก (Early pre-term) การคลอดก่อนกำหนดในช่วง อายุครรภ์ 33 สัปดาห์กับ 6 วัน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น
  • การคลอดก่อนกำหนดช่วงหลัง (Late Pre-term) การคลอดก่อนกำหนดในช่วงที่อายุครรภ์ได้ 34-36 สัปดาห์กับ 6 วัน ภาวะแทรกซ้อนจะน้อยกว่าช่วงแรก

การคลอดก่อนกำหนดจะส่งผลให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้สูง เนื่องจากอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายยังเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์หรือพัฒนาได้ไม่เต็มที่จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดการ คลอดก่อนกำหนด

สาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลอดก่อนกำหนดนั้นเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากตัวคุณแม่เองและความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดังนี้

สาเหตุจากคุณแม่ตั้งครรภ์

  1. อายุของคุณแม่ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในคนที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  2. เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน หรือมีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครอบครัว
  3. ปากมดลูกสั้น หากสั้นกว่า 2-2.5 เซนติเมตร จะทำให้การรัดของหูรูดก็น้อยกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย
  4. ความผิดปกติของมดลูกหรือมดลูกพิการแต่กำเนิด เช่น มีผนังกั้นภายในโพรงมดลูก หรือมีเนื้องอกในมดลูก
  5. โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต  โรคหัวใจ หรือเกิดการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะน้ำเดิน อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
  6. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การทำงานหนักเกินไป ความเครียด รวมถึงการขาดสารอาหารและออกซิเจน ทำให้ทารกในครรภ์น้ำหนักตัวน้อยและมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้

สาเหตุจากความผิดปกติของทารกในครรภ์

  • ความผิดปกติในครรภ์ เช่น โรคทางพันธุกรรม ภาวะรกเสื่อม ทำให้ทารกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ส่งผลให้กระตุ้นการคลอดเร็วยิ่งขึ้น
  • ทารกแฝด เพราะกว่า 50% ของการตั้งครรภ์แฝดมักจะคลอดก่อนกำหนด จากการที่มดลูกบีบตัวเร็วกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวทั่วไป
  • ความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งบุตรในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

คลอดก่อนกำหนด อันตรายไหม?

การคลอดก่อนกำหนดนั้นมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์สูง รวมถึงอาจะพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดของทารกทำงานได้ไม่เต็มที่ มีภาวะเลือดออกในสมองหรือลำไส้ ตับมีขนาดเล็ก มีภาวะเลือดจางและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการคลอดกำหนด 6 เดือนหรือช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ นอกจากนี้เมื่อคลอดแล้วจะทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย เจริญเติบโตช้า ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้มากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนดทั่วไป

9 พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์

ในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ หรือช่วง 3 เดือนแรกอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ดังนี้

  1. การขยับร่างกายหรือการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก เช่น การวิ่ง การกระโดด หรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนจนอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตได้ จึงควรขยับหรือออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม เช่น โยคะ ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก เป็นต้น
  2. การสูบบุหรี่ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด  เพราะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้สูง ตลอดจนเกิดความผิดปกติและความทุพพลภาพทางร่างกายโดยกำเนิด
  3. การนอนหรือการยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป (ประมาณ 4 เดือนขึ้นไป) เพราะอาจเกิดเส้นเลือดขอดบริเวณขา ปวดหลัง และเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อม รวมถึงการสวมใส่รองเท้าที่มีส้นสูงเกินไปจะทำให้การยืนไม่มั่นคงและเสี่ยงต่อการหกล้มได้ นอกจากนี้การนอนนานๆ จะทำให้น้ำหนักในครรภ์กดทับกระเพาะอาหาร ลำไส้ และเส้นเลือดดำ จึงทำให้ตัวบวม ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจทำให้หน้ามืดได้ง่าย
  4. การไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย เช่น หัดเยอรมัน โรคแพร่ระบาดต่างๆ เป็นต้น
  5. การอบไอน้ำหรือการเข้าห้องซาวน่า แม้ว่าจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น แต่ความร้อนจากไอน้ำอาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ที่สำคัญ จึงอาจส่งผลให้เลือดมีความข้นและอุดตัน ทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
  6. การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง สารระเหย รังสี รวมถึงการทำความสะอาดมูลสัตว์ เพราะมีส่วนประกอบของท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เช่น เชื้อปรสิตในมูลแมวที่มีแมวเป็นพาหะนำโรค อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  7. การรับประทานยาบางชนิด โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีการพัฒนาอวัยวะและระบบประสาทต่าง ๆ การรับประทานยาบางชนิดอาจส่งผลให้ต่อการพัฒนาการของทารกในครรภ์และอาจถึงขั้นพิการได้ เช่น ยาลดสิว ยาแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้านหลายชนิด ซึ่งยาที่สามารถรับประทานได้ในช่วงตั้งครรภ์มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น  ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ยาคลอเฟนิรามีน และผงเกลือแร่ แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
  8. การรับประทานอาหารที่ให้คุณค่าสารอาหารต่ำ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรงดอาหารบางชนิด เช่น อาหารสุกๆ ดิบๆ เนยแข็ง ชีส อาหารแปรรูป ของหมักดอง ชา กาแฟ น้ำอัดลม ฯลฯ เพราะเมื่อทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ทำให้ร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางชนิดและอาจกระตุ้นโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้กำเริบได้
  9. การดื่มนมในปริมาณมาก โดยปกติแล้วการดื่มนมวัวหรือนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วนั้นมีความเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้วสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่หากดื่มนมมากกว่า 1 แก้วต่อวันอาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการแพ้ เช่น แพ้แล็กโทสหรือโปรตีนในนมวัว ซึ่งหากต้องการเสริมแคลเซียมควรเสริมจากแหล่งอาหารอื่นๆ แทน เช่น ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ อัลมอนด์ ผักใบเขียว เป็นต้น

คลอดก่อนกำหนด ป้องกันได้อย่างไร?

การดูแลตนเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจทั้งในด้านอาหาร สุขอนามัย และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดบุตรได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

1. การฝากครรภ์

เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว ภายใน 3 เดือนแรกควรรีบมาฝากครรภ์เพื่อตรวจอัลตราซาวด์และยืนยันอายุครรภ์ รวมถึงตรวจเลือดและโรคประจำตัวเพื่อหาความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการตั้งครรภ์ หากเคยมีประวัติการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

2. ตรวจปากมดลูก

เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 18-22 สัปดาห์ ควรทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจว่ามีปากมดลูกสั้นหรือไม่ หากพบว่ามีปากมดลูกสั้น แพทย์จะป้องกันด้วยการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 45% หรืออาจจำเป็นต้องเย็บปากมดลูกหรือใช้ห่วงซิลิโคน (Pessary) รัดปากมดลูกเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

3. รับประทานอาหารที่มี DHA

เนื่องจาก DHA คือ สารอาหารที่มีความสำคัญต่อการสร้างผนังเซลล์ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Omega-3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้จึงต้องได้รับจากสารอาหารเท่านั้น เช่น ปลาทูน่า หอยนางรม

เมล็ดเฟลก เมล็ดเซีย ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่าง DHA ฯลฯ โดยการรับประทานอาหารที่มี DHA อย่างเพียงพอ คือ 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยบำรุงครรภ์ให้พัฒนาการสมอง สายตา และเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายของทารกให้แข็งแรง น้ำหนักของทารกเป็นไปตามเกณฑ์ ป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด รวมถึงช่วยลดภาวะเครียดหรือซึมเศร้าของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดได้

4. ลดความเครียด

คุณแม่ตั้งครรภ์มักมีภาวะเครียดได้ง่ายกว่าคนปกติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนและการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่ออารมณ์โดยตรง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หากมีความเครียดสูงจะกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น จนเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ จึงควรผ่อนคลายด้วยการฟังเพลง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำงานอดิเรก พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายที่ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

5. สังเกตตนเอง

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการเจ็บครรภ์เป็นพักๆ หรือท้องแข็งจากการที่มดลูกหดรัดตัว ควรลดการทำกิจกรรม นอนพักและเปลี่ยนอิริยาบถสักระยะ รวมถึงสังเกตอาการ เช่น ปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอว เจ็บท้องต่อเนื่อง (4 ครั้งใน 20 นาที) มีมูกหรือเลือดออกทางช่องคลอด รู้สึกทารกดิ้นน้อยกว่าปกติ ตัวบวมและความดันสูงขึ้น หากอาการยังไม่บรรเทาลงอาจเป็นอาการของครรภ์เป็นพิษหรืออาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

การดูแลสุขภาพของคุณแม่และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงในช่วงตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญต่อการป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ อีกทั้งการรักษาสุขอนามัย สังเกตตนเอง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยกรดโอเมก้า-3 อย่างเช่น DHA นอกจากจะช่วยบำรุงครรภ์ให้ทารกมีพัฒนาการทางสมอง สายตา เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายทารกแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดและช่วยลดภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้อีกด้วย

อ้างอิง

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ความรู้คลอดก่อนกำหนด

https://www.bangkokhospital.com/content/pregnancy-have-opportunity-to-preterm-labor

https://www.phyathai.com/th/article/3043 -คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้__

https://www.bcaremedicalcenter.com/Articles-detail/137

https://www.drnoithefamily.com/post/dha-and-pregnancy

https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-แม่และเด็ก/คลอดก่อนกำหนด-กับปัญหาระบบทางเดินหายใจ

 

   
 
 
 
     
     
 
ประกาศเมื่อ 15 มีนาคม 2567