ข่าวประชาสัมพันธ์
     
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ : รู้กันยัง เมื่องอายุ 60 ปี จะได้สิทธิสวัสดิการอะไร
   
 

 ผู้สูงอายุคือใคร?

ผู้สูงอายุ ตามคำนิยามของพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศ หรือเรียกว่า “สังคมสูงวัย”  หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าสิทธิและสวัสดิการของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอะไรบ้าง องค์การบริหารส่วนตำบลบางศาลา ได้รวบรวมสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งเป็น 13 เรื่อง ดังนี้

สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ มีดังนี้

1. สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จัดสรรให้ผู้สูงอายุทุกคน (ยกเว้นข้าราชการบำนาญ) แบบขั้นบันได คือ อายุ 60 – 69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน , อายุ 70 – 79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน , อายุ 80 – 89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน ติดต่อได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้านผู้สูงอายุ

2. การลดหย่อนค่าโดยสาร อาทิ รถโดยสารประจำทาง รวมถึงเรือโดยสาร ลดค่าโดยสาร 50% พร้อมแสดงบัตรประชาชน รถทัวร์ บขส. และรถไฟ ได้รับส่วนลด 50% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึง 30 กันยายนของทุกปี

3. การลดหย่อนภาษี บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา สามารถขอลดหย่อนภาษี จำนวน 30,000 บาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี เพิ่มเติมสอบถามที่ กรมสรรพากร สายด่วน โทร 1161

4. ปรับสภาพที่อยู่อาศัย เปิดให้ผู้สูงอายุที่ยากจน มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงและเหมาะสม สามารถขอปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัย รายละไม่เกิน 40,000 บาท ติดต่อได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้านผู้สูงอายุ

5. สิทธิทางอาชีพ มีการจัดบริการฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้สูงอายุ  เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น และจัดบริการให้คำปรึกษา แนะนำ และรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุ สอบถามได้ที่ สนง.จัดหางานจังหวัด

6. สิทธิทางการศึกษา ปัจจุบันสำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ ได้พัฒนาหลักสูตรบริการทางการศึกษา เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สอบถามที่ สำนักงาน กศน.

7. สิทธิทางการแพทย์ ผู้สูงอายุสามารถเข้ารับบริการและดูแลสุขภาพต่าง ๆ ผ่านช่องทางพิเศษ ติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ (โทร สายด่วนสปสช. 1330)

 

 

8. บริการให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ผู้สูงอายุที่ยังสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ไม่มีเงินทุน สามารถยื่นกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนผู้สูงอายุได้ ดังนี้ รายบุคคลได้วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน และรายกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน ได้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต้องมีผู้ค้ำประกัน และต้องชำระคืนทุกเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อได้ที่ สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

9. การช่วยเหลือทางกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีบริการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ และดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น สนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายการจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น ติดต่อได้ที่ สายด่วนคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โทร. 1111 กด 77

10. ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ ผู้สูงอายุสามารถเข้าชมฟรี เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น

11. สิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฯลฯ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น ลิฟท์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ฯลฯ

12. มีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม เปิดให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สถานกีฬาต่าง ๆ ส่วนศูนย์กีฬาในร่ม ได้ลดค่าสมัครสมาชิก 50%

                                                            

13. การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ให้บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม ถูกทอดทิ้ง ถูกหาประโยชน์ ด้วยการนำไปรักษาพยาบาล ดำเนินคดี จัดหาที่พักอาศัยปลอดภัย ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ  ติดต่อที่ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300

                การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม และขาดผู้ช่วยเหลือดูแล  สามารถขอรับเงินช่วยเหลือวงเงินไม่เกิน 3,000 บาท ได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ติดต่อที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้านผู้สูงอายุ

                และเมื่อเสียชีวิต ผู้จัดการศพผู้สูงอายุยากจนนั้น สามารถยื่นขอรับเงินจัดการศพรายละไม่เกิน 3,000 บาท โดยต้องยื่นความประสงค์ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้านผู้สูงอายุภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกใบมรณบัตร              

ผู้สูงอายุกับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน  
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.
2566 ภายในไม่เกินวันที่ 10 ของเดือน  กรณีที่ผู้สูงอายุเสียชีวิต ภายในวันที่  1   ของเดือนที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะได้รับเงินในเดือนนั้น โดยทางญาติอย่าพึ่งดำเนินการปิดบัญชีธนาคารภายในเดือนที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตเพราะกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ หากปิดบัญชีจะทำให้ กรมบัญชีกลางโอนเงินเข้าบัญชีไม่ได้        

กรณีผู้สูงอายุรายใหม่ กรมบัญชีกลางจะนำเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้าบัญชีให้ในเดือนถัดไปหลังจากเดือนวันเกิดอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

สำหรับผู้สูงอายุรายที่จะอายุครบ 70 ,80 ,90 ปี ทางกรมบัญชีกลางจะทำการปรับเงินตามขั้นบันไดให้เองโดยไม่ต้องมาแจ้งเทศบาล/อบต. โดยจะได้เงินในเดือนถัดไปหลังจากอายุครบ 70 , 80 , 90 ปี บริบูรณ์

การย้ายที่อยู่อย่างไรเพื่อให้สิทธิในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ เมื่อย้ายที่อยู่เรียบร้อยแล้วให้ผู้สูงอายุดำเนินการลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพที่เทศบาล / อบต.แห่งใหม่ทันทีที่ย้ายทะเบียนบ้านทันที หากกรมบัญชีกลางตรวจพบว่าไม่ดำเนินการลงทะเบียนที่เทศบาล / อบต.แห่งใหม่ทันทีที่ย้ายทะเบียนบ้าน กรมบัญชีกลางจะระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ชั่วคราว เนื่องจากขาดคุณสมบัติการรับเบี้ยยังชีพตามระเบียบฯ จนกว่าจะไปติดต่อขอลงทะเบียน ณ เทศบาล / อบต.แห่งใหม่

   
 
 
 
     
  ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ แผ่นพับสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ.pdf_310724_095709.pdf
 
     
 
ประกาศเมื่อ 24 กรกฏาคม 2566