ผลกระทบจาก ‘ไฟป่า’ ที่เราเห็นส่วนมาก อาจเเป็นเพียงภาพบนพื้นดินจากการสูญเสียพื้นที่ป่า สัตว์ป่า หรือที่อยู่อาศัย แต่รู้หรือไม่ ? การเกิดไฟป่ายังสร้างผลกระทบไปยังระบบนิเวศใต้น้ำอีกด้วย ซึ่งก็มีความสำคัญต่อความวัฏจักรความยั่งยืนในธรรมชาติ
ตัวอย่างจากการงานวิจัยชิ้นหนึ่งอธิบายว่า ไฟป่าทำให้คุณภาพน้ำในแหล่งต้นน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการเผาไหม้ของพืชพรรณและอินทรียวัตถุทำให้เกิดขี้เถ้าและอนุภาคต่างๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกชะล้างลงในแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบ จะมีผลต่อองค์ประกอบทางเคมีของน้ำเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างหนึ่ง คือ การเพิ่มขึ้นของไนโตรเจนและฟอสฟอรัส สามารถนำไปสู่ภาวะยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) ซึ่งเป็นกระบวนการที่แหล่งน้ำอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารมากเกินไป ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่มากไปตามมา สาหร่ายชนิดนี้จะเข้าไปลดระดับออกซิเจนในน้ำ ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
การสูญเสียพืชพรรณขณะไฟไหม้ยังเพิ่มความเปราะบางของดินต่อการกัดเซาะ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาหลังไฟป่าจะพัดเอาดินจำนวนมหาศาลไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้ระดับตะกอนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ต้องอาศัยน้ำใสในการหาอาหารหรือการสืบพันธุ์ เช่น ปลาและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลายชนิด
การตกตะกอนขัดขวางกระบวนการสังเคราะห์แสงพืชน้ำ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศทางน้ำที่ดี รวมถึงยังสร้างความผันผวนต่ออุณภูมิในแหล่งน้ำซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่มีความอ่อนไหวต่ออุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันหลายชนิด ทั้งยังรบกวนวงจรการผสมพันธุ์ อัตราการเติบโต และเป็นอีกสาเหตุี่อาจจะทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำต่ำลง
พืชพรรณที่ล้มตายจากไฟป่าจะส่งผลให้พื้นที่นั้นๆ มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำต่ำลง นำไปสู่การไหลท่วมฉับพลัน ส่งผลให้โครงสร้างทางกายภาพของแหล่งน้ำนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นไปอีก
การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ ความใส และโครงสร้างที่อยู่อาศัย จะขยายผลกระทบในวงกว้างต่อใยอาหารสัตว์น้ำ นำไปสู่ความไม่สมดุลของระบบนิเวศในระยะยาวได้ อีกทั้งสารปนเปื้อนและโลหะหนักที่เดิมเกาะอยู่ตามพืชหรือดินเมื่อไหลลงแหล่งน้ำก็ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำตายได้
การฟื้นตัวจากผลกระทบของไฟป่าที่มีต่อระบบทางน้ำอาจเป็นกระบวนการที่ช้า และในบางกรณี ระบบนิเวศเหล่านี้อาจไม่กลับคืนสู่สภาพก่อนเกิดเพลิงไหม้เลย การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของชนิดพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยทางกายภาพ และการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ทางนิเวศสามารถนำไปสู่ความสมดุลใหม่ ซึ่งมักจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และการทำงานของระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มฉายภาพให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ลุ่มน้ำแอมะซอนซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นจุดสนใจของการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของไฟป่า การวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไฟป่าสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อเคมีในน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเพิ่มขึ้นของระดับคาร์บอนและสารอาหารในแหล่งน้ำ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อสายใยอาหารทั้งหมด ตั้งแต่จุลินทรีย์ไปจนถึงปลาขนาดใหญ่
ไฟป่ามีผลกระทบอย่างลึกซึ้งและหลากหลายต่อระบบนิเวศทางน้ำ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่อยู่อาศัยและการรบกวนใยอาหาร ผลกระทบมีวงกว้างและอาจส่งผลระยะยาว การทำความเข้าใจผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การอนุรักษ์และฟื้นฟูที่มีประสิทธิผล
ในขณะที่เราเผชิญกับอนาคตที่อาจเกิดไฟป่าที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ การให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในแม่น้ำ ลำธาร เทียบเท่ากับสัตว์ป่าตัวใหญ่บนบก และความตระหนักรู้ถึงผลกระทบให้มีความสำคัญมากขึ้น ด้วยการทำเช่นนั้น เราไม่เพียงแต่ปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญเหล่านี้ แต่ยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกทั้งใบไว้อีกด้วย
ที่มา https://www.seub.or.th/bloging/news/2024-15/